Vision correction

เลนส์ผ่อนคลาย

กล้ามเนื้อตา ลดตาล้า

เลนส์ผ่อนคลายกล้ามเนื้อตา ลดตาล้า (Antifatique Lenses)

ในยุคดิจิทัลที่เราใช้เวลาอยู่กับหน้าจอเกือบตลอดวัน ไม่ว่าจะเป็น คอมพิวเตอร์ มือถือ หรือแท็บเล็ต ปัญหาที่หลายคนเจอเหมือนกันคือ อาการล้าตา ปวดตา มองไม่ชัด หรือแม้แต่ปวดหัวบ่อย ๆ จนบางครั้งอาจไม่แน่ใจว่าเกิดจากค่าสายตาเปลี่ยน แว่นไม่ตรง หรือเป็นโรคอะไรแอบแฝงอยู่กันแน่? บทความนี้หมอพาทุกคนไปทำความเข้าใจถึง "สาเหตุของปัญหาตาล้า" และแนะนำวิธีแก้ไขด้วย เลนส์ผ่อนคลายกล้ามเนื้อตา ที่ช่วยลดการเพ่ง และสบายตาขึ้นเมื่อต้องอยู่หน้าจอนาน ๆ

อาการดวงตาเหนื่อยล้า เกิดจากอะไร?

ปวดหัว ปวดตา ตาล้า ตามองภาพไม่โฟกัส คุณกำลังมีอาการเหล่านี้อยู่ใช่ไหมคะ? จริง ๆ นี่ถือเป็นหนึ่งปัญหาที่มีคนไข้เข้ามาปรึกษาหมอเยอะมาก ซึ่งจริง ๆ แล้ว สาเหตุส่วนใหญ่ของปัญหาเหล่านี้ มักมาจาก พฤติกรรมการใช้งานดวงตาในชีวิตประจำวัน โดยเฉพาะการใช้อุปกรณ์ดิจิทัลในระยะใกล้ และใช้ต่อเนื่องเป็นเวลานาน ทั้งนี้เพราะดวงตาของเรา ไม่ได้ถูกออกแบบมาให้รองรับการใช้งานหน้าจอ ที่เต็มไปด้วยแสงจ้า ส่องเข้าตาโดยตรง หรือเพ่งมองตัวอักษรที่เล็กกว่าปกติ ทำให้ดวงตาทำงานหนักเกินไป จนเกิดอาการล้าตา ปวดตา หรือมองภาพไม่ชัดได้ง่ายขึ้น

แต่ก่อนที่เราจะไปพูดถึงวิธีผ่อนคลายกล้ามเนื้อตา มาทำความเข้าใจถึง กลไกการทำงานของดวงตา สักนิด ว่าเวลาที่ต้องมองในระยะใกล้ ดวงตาของเราต้องทำงานหนักแค่ไหน และอะไรคือสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการปวดตา เหนื่อยล้า และไม่สบายตา เมื่อต้องใช้สายตานาน ๆ โดยเฉพาะการทำงานที่เกี่ยวข้องกับหน้าจออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์

  1. ดวงตาทั้งสองข้างต้องเบนเข้าหากัน (Convergence) เพื่อให้ภาพมารวมกันพอดี
  2. กล้ามเนื้อตาต้องหดตัวและทำงานหนักขึ้น (Accommodation) เพื่อปรับให้เลนส์ตาโป่งออก ทำให้สามารถโฟกัสระยะใกล้ได้ชัด

ซึ่งการเพ่งมองในระยะใกล้แบบนี้ คือ สาเหตุหลักของอาการล้าดวงตา เพราะกล้ามเนื้อตาต้องทำงานต่อเนื่อง เปรียบเทียบง่าย ๆ เหมือนตอนที่เราถือของหนัก ๆ หากถือเพียงแค่ 10 นาที อาจไม่รู้สึกอะไร แต่ถ้าต้องถือไปเรื่อย ๆ หลายชั่วโมง ก็ย่อมรู้สึกล้าเป็นธรรมดา ดังนั้นดวงตาของเราก็เป็นได้เช่นกันค่ะ

แนะนำวิธีผ่อนคลายกล้ามเนื้อตา เพิ่มประสิทธิภาพการมอง

  1. พักสายตาเป็นระยะ : แนะนำว่าทุก ๆ 20-30 นาที ควรละสายตาจากจอ จากนั้นหันไปมองวัตถุไกล ๆ ประมาณ 20 วินาที เพื่อให้กล้ามเนื้อตาได้ผ่อนคลาย
  2. กฎ 20-20-20 : ใช้งานจอ 20 นาที พักมองไกล 20 ฟุต (ประมาณ 6 เมตร) และนาน 20 วินาที
  3. ปรับระยะและท่าทางการทำงาน : นั่งให้หลังตรง วางจอให้อยู่ในระดับสายตาหรือต่ำกว่าเล็กน้อย โดยมีระยะห่างจากตาประมาณ 40-70 เซนติเมตร
  4. ฝึกบริหารกล้ามเนื้อตาด้วยการกลอกตา : ควรกลอกตาขึ้น-ลง ซ้าย-ขวา ช้า ๆ เพื่อช่วยผ่อนคลายการทำงานของกล้ามเนื้อตา
  5. ประคบอุ่นบรรเทาอาการล้า : ใช้ผ้าชุบน้ำอุ่น หรือแผ่นเจลอุ่นวางบนดวงตา ประมาณ 5-10 นาที เป็นประจำทุกวัน วิธีนี้ช่วยเพิ่มการไหลเวียนเลือดและคลายความตึงเครียดได้ดี

เลนส์ลดตาเหนื่อย ผ่อนคลายกล้ามเนื้อตา ออกแบบอย่างไร?

นอกจากคำแนะนำข้างต้น การเลือกเลนส์ที่เหมาะสม อย่าง เลนส์ผ่อนคลายกล้ามเนื้อตา (Anti-Fatigue Lens) เป็นหนึ่งตัวช่วยสำคัญ ที่ถูกออกแบบมาเพื่อลดภาระการเพ่งในระยะใกล้ได้ดี ช่วยให้ดวงตาทำงานน้อยลง เหมาะเป็นอย่างยิ่ง กับผู้ที่จำเป็นต้องใช้อุปกรณ์ดิจิทัลต่อเนื่องเป็นเวลานาน

การออกแบบเลนส์ผ่อนคลายกล้ามเนื้อตา จะออกแบบให้สอดคล้องกับพฤติกรรมการใช้งานในชีวิตประจำวัน โดยเฉพาะการมองในระยะใกล้ เช่น การใช้คอมพิวเตอร์ แท็บเล็ต หรือสมาร์ทโฟน โดยตัวเลนส์จะมีการใส่ค่าสายตาบวกเล็กน้อย (ประมาณ +0.40 ถึง +0.80) บริเวณด้านล่างของเลนส์ ทำหน้าที่เสมือน "เลนส์ขยาย" ที่ช่วยลดการทำงานของกล้ามเนื้อตาและการเพ่ง และส่วนบนของเลนส์จะช่วยให้การมองเห็นในระยะไกลคมชัด เหมือนเลนส์ชั้นเดียวทั่วไป

นอกจากนี้เลนส์จะถูกออกแบบให้สอดคล้องกับท่าทางการใช้งานจริง (เมื่อเปรียบเทียบกับการอ่านหนังสือ) และการใช้งานหน้าจอดิจิทัลจะอยู่ในระยะที่ใกล้กว่า (เฉลี่ยประมาณ 33 เซนติเมตร เทียบกับการอ่านหนังสือปกติที่ 40 เซนติเมตร) และมุมการมองจะอยู่ในตำแหน่งที่ต่ำลง ซึ่งการออกแบบเลนส์เหล่านี้ เป็นหัวใจสำคัญที่ช่วยลดอาการล้าของดวงตา และทำให้การมองเห็นระยะใกล้มีความสบายมากกว่าเดิม

การใช้งานเลนส์ผ่อนคลายกล้ามเนื้อตา แทบไม่ต่างจากเลนส์ทั่วไป แต่ถึงอย่างไรโครงสร้างของเลนส์ผ่อนคลายกล้ามเนื้อตา อาจมีบางบริเวณที่เกิดการบิดเบือนเล็กน้อย แต่ปริมาณนี้ถือว่าน้อยมากจนผู้ใช้งานส่วนใหญ่ แทบไม่รู้สึกถึงความต่าง เพราะฉะนั้นมุมมองผ่านเลนส์ยังคงใกล้เคียงกับเลนส์ชั้นเดียวทั่วไป สามารถสวมใส่เลนส์ได้ทันที โดยไม่ต้องใช้เวลาปรับตัวหรือฝึกการมองใหม่แต่อย่างใด สบายใจได้เลยค่ะ

ใครบ้างเหมาะกับเลนส์ผ่อนคลายกล้ามเนื้อตา

  • ผู้ที่ต้องใช้อุปกรณ์อิเลคทรอนิกส์ ติดต่อกันเป็นเวลานาน (เกิน 3 ชม. ต่อวัน)
  • ผู้ที่มีอาการ ปวดหัว ปวดตา ตาล้า เพราะเกิดจากการเพ่งหน้าจอ
  • ผู้ที่ใกล้เริ่มมีภาวะสายตายาวตามวัย หรืออายุช่วง 35-39 ปี
  • ผู้ที่สายตาสั้นจะเห็นผลได้ชัดเจนมาก

ตัวอย่างแบรนด์และรุ่นเลนส์กลุ่มที่ช่วยผ่อนคลายกล้ามเนื้อตา

  • Eyezen by Essilor
  • Relaxee by Nikon
  • SyncIII by Hoya
  • Relax by Shamir

ขอบคุณคลิปจาก : The Spectacle Factory

เลนส์ผ่อนคลายกล้ามเนื้อตา เป็นทางเลือกที่ช่วยลดอาการล้าตา ปวดตา และปัญหาการเพ่งจากการใช้หน้าจอที่หลีกเลี่ยงได้ยากในยุคปัจจุบัน ทั้งนี้เพื่อให้การทำงานของดวงตาในแต่ละวันเป็นเรื่องง่าย ชัดเจน และสบายขึ้นอย่างที่ควรจะเป็น


หากคุณกำลังมีปัญหาเรื่องกล้ามเนื้อตา ที่เกิดจากการใช้งานหน้าจอดิจิทัล จนเกิดอาการตาล้า ปวดตา โฟกัสไม่ชัดเจน ที่ Dr.Ouise Eye Clinic พร้อมให้คำแนะนำที่ถูกต้อง พร้อมบริการตรวจวัดสายตา โดยทีมจักษุแพทย์และนักทัศนมาตรผู้เชี่ยวชาญ เพื่อเลือกเลนส์ที่เหมาะสมที่สุดให้กับคุณ มั่นใจได้ว่าคุณจะได้เลนส์ที่ตอบโจทย์การใช้งาน และไลฟ์สไตล์ของตัวเองอย่างแน่นอน

บทความโดย หมออุ๊ย แพทย์หญิง วชิรา สนธิไชย 

จักษุแพทย์เฉพาะทาง ด้านการแก้ไขปัญหาสายตาและเลนส์โปรเกรสซีฟ

ผู้ที่สนใจสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม หรือนัดหมายเพื่อตรวจสุขภาพตา ได้ที่

โทร : 090-224-5168

Facebook : Dr.Ouise Eye Clinic

สำหรับคนสายตาสั้น การมองเห็นชัดท่ามกลางแดดแรงและป้องกันรังสียูวีอาจเป็นเรื่องยากเกินไป แต่แว่นสายตากันแดดสำหรับคนสายตาสั้นนั้นช่วยแก้ปัญหานี้ได้อย่างตรงจุด
12 มิ.ย. 2025
อายุ 40+ เริ่มมองใกล้ไม่ชัด? อาจถึงเวลาตัดแว่นสายตายาว ทำความเข้าใจ สายตายาวตามวัยคืออะไร? พร้อมวิธีเลือกแว่นตาให้เหมาะ เพื่อการมองเห็นที่คมชัดและสบายตาอีกครั้ง
12 มิ.ย. 2025
การมองเห็นไม่ใช่แค่เรื่องของความคมชัด แต่เต็มไปด้วยรายละเอียดมากมาย ที่ช่วยให้การใช้ชีวิต..
9 มิ.ย. 2025
เลนส์โปรเกรสซีฟช่วยให้มองเห็นได้หลายระยะ แต่ยังมีความเชื่อผิด ๆ มากมายที่ทำให้ลังเล บทความนี้จะพาคุณมาทำความเข้าใจและไขข้อสงสัยเพื่อให้เลือกใช้งานได้อย่างมั่นใจ
7 มิ.ย. 2025
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้
เปรียบเทียบสินค้า
0/4
ลบทั้งหมด
เปรียบเทียบ
Powered By MakeWebEasy Logo MakeWebEasy